ป้ายกำกับ

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

รายงาน

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

ภูกระดึง เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 ของประเทศไทย อยู่ในท้องที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ประกอบด้วยภูเขา ที่มีธรรมชาติอันสวยสดงดงาม ที่ราบบนยอดภูกระดึงมีสังคมพืชเป็นสังคมของพืชเมืองหนาว ได้แก่ ป่าสนสองใบ ป่าสนสามใบ ป่าต้นเมเปิล (ไฟเดือนห้า) และพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงาม เช่น กุหลาบป่า ม้าวิ่ง เอื้องคำหิน ดอกม่วนดักหงาย เป็นต้น ตลอดจนมีธรรมชาติ บรรยากาศ และทิวทัศน์ที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 348.12 ตารางกิโลเมตร หรือ 217,576.25 ไร่ สภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปี บนยอดภูกระดึง
การเดินขึ้นภูกระดึงไม่ลำบากมากนัก แต่ระยะทางจะไกลและชัน แต่ระหว่างทางจะมีจุดให้แวะพักเหนื่อยต่างๆ ตามลำดับ ได้แก่ ปางกกค่า ซำแฮก ซำบอน ซำกกกอก พร่านพรานแป ซำกกหว้า ซำกกโดน และซำแคร่ หากเดินขึ้นภูตั้งแต่เช้า อากาศจะค่อนข้างเย็นสบาย มีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมไปตลอดทาง โดยเฉพาะสภาพทางธรณี และสภาพป่าที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะๆ จากป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา จนถึงหลังแป จากหลังแปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง จะเป็นทางราบท่ามกลางทุ่งหญ้าป่าสนเขาอันกว้างใหญ่ รวมระยะทางจากทาง ขึ้นไปถึงหลังแป และศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง ประมาณ 9 กิโลเมตร แหล่งท่องเที่ยวบนภูกระดึง ส่วนใหญ่มีทางเดินชมธรรมชาติติดต่อถึงกันหมด ฉะนั้น ผู้ที่จะไปท่องเที่ยวบนภูกระดึงควรใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน เพื่อจะได้เที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงามเหล่านั้นได้ทั่วถึง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เปิดให้ท่องเที่ยวบนยอดภูกระดึง เฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม
การเดินทางขึ้นไปชมความงามบนยอดภูกระดึง ทางอุทยานแห่งชาติอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นได้ตั้งแต่เวลา 07.00 - 14.00 น. ของทุกวัน และหลังจากเวลา 14.00 น.เป็นต้นไป ทางอุทยานแห่งชาติจะไม่อนุญาต ให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปชมความงามบนยอดภูกระดึง เนื่องจากระยะทางในการเดินทางขึ้นเขาประมาณ 9 กิโลเมตร และมีความลาดชันในบางช่วง การเดินทางต้องใช้เวลาในการเดินเท้า ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งจะตรงกับเวลาพลบค่ำในระหว่างทางเกิดความยากลำบากในการเดินทาง อีกทั้งอาจได้รับอันตรายจากสัตว์ป่าที่ออกหากินในเวลากลางคืน

ลักษณะภูมิประเทศ
                สภาพทั่วไปของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นภูเขาหินทรายที่มีพื้นที่ราบบนยอดเขากว้างใหญ่สลับกับเนินเตี้ย ๆ ยอดสูงสุดคือ ภูกุ่มข้าว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,350 เมตร เป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำพอง ซึ่งหล่อเลี้ยงเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนหนองหวาย ในจังหวัดขอนแก่น ยอดภูกระดึงประกอบไปด้วยป่าสนสลับป่าก่อและทุ่งหญ้า มีพันธุ์ไม้ดอก ไม้ใบ ขึ้นอยู่ทั่วไปตามบริเวณน้ำตก ลำธาร และลานหิน ซึ่งธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้อย่างสวยงามยิ่ง
ลักษณะภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงบริเวณที่ระดับต่ำตามเชิงเขา มีสภาพโดยทั่วไปใกล้เคียงกับบริเวณอื่นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม ฝนตกชุกที่สุดระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยรายปี 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม และอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน สภาพอากาศทั่วไปบนยอดภูกระดึง แตกต่างจากสภาพอากาศในที่ราบต่ำเป็นอย่างมาก โดยปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำฝนบนที่ต่ำ เนื่องจากอิทธิพลของเมฆ/หมอกที่ปกคลุมยอดภูกระดึงเป็นเนืองนิจ ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยระหว่าง 0-10 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยระหว่าง 21-24 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยระหว่าง 12-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยระหว่าง 23-30 องศาเซลเซียส อากาศบนยอดภูกระดึงมักจะแปรปรวน มีเมฆหมอก ลอยต่ำปกคลุมบ่อยครั้ง อากาศจึงค่อนข้างเย็นตลอดปี
ในช่วงฤดูฝน มักเกิดภัยธรรมชาติ เช่น เกิดการพังทะลายของภูเขาและมีน้ำป่า ทางอุทยานแห่งชาติจึงกำหนดให้ปิด-เปิดการท่องเที่ยวเฉพาะบนยอดเขาภูกระดึง เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และให้สภาพธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมได้มีการพักฟื้นตัว หลังจากนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมอย่างมากในแต่ละปี ดังนี้

- ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 30 กันยายน ของทุกปี
- เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 พฤษภาคม ของทุกปี
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สังคมพืชของภูกระดึงเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดป่าหนึ่ง มีทั้งป่าผลัดใบ และป่าดงดิบ ที่ระดับความสูงต่างๆ จำแนกออกได้เป็น

ป่าเต็งรัง

       พบบนที่ราบเชิงเขาและบนที่ลาดชันจนถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 600 เมตร ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด รกฟ้า อ้อยช้าง กว้าว มะกอกเลื่อม มะค่าแต้ ช้างน้าว ติ้วขน ยอป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้าเพ็ก ขึ้นเป็นกอหนาแน่น แทรกด้วยไม้พุ่มและพืชล้มลุก

ป่าเบญจพรรณ

       พบตั้งแต่บนพื้นที่ราบเชิงเขาและที่ลาดชันตามไหล่เขารอบภูกระดึง จนถึงระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 950 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ แดง ประดู่ป่า กระบก ตะแบกเลือด ยมหิน มะกอก งิ้วป่า แสมสาร มะค่าโมง ตะคร้ำ สมอไทย สำโรง โมกมัน ฯลฯ พืชพื้นล่างประกอบด้วยหญ้าและกอไผ่ของไผ่รวก ไผ่ไร่ ไผ่หลวง ไผ่ซางหม่น ไม้พุ่ม เช่น หนามคณฑา กะตังใบ สังกรณี ไผ่หวานบ้าน ฯลฯ ไม้เถา เช่น แก้วมือไว สายหยุด นมวัว ตีนตั่ง หนอนตายหยาก กลอย ฯลฯ พืชล้มลุก เช่น บุกใหญ่ ผักปราบ แห้วกระต่าย ฯลฯ พืชกาฝากและอิงอาศัย เช่น ข้าวก่ำนกยูง ดอกดิน ชายผ้าสีดา เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง

            พบตามฝั่งลำธารของหุบเขาที่ชุ่มชื้นทางทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตก ตั้งแต่เชิงเขาจนถึงระดับความสูงประมาณ 950 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้สำคัญได้แก่ ก่อ ตะเคียนทอง ยางแดง ยมหอม ตะแบกเปลือกบาง หว้า มะม่วงป่า สัตตบรรณ มะหาด คอแลน เชียด ฯลฯ พืชพื้นล่างแน่น เป็นพวกไม้พุ่ม ไม้เถา เช่น สร้อยอินทนิล กระทงลาย เถามวกขาว เล็บมือนาง กระไดลิง ฯลฯ พืชล้มลุก เช่น ข่าคม ก้ามกุ้ง ฯลฯ หวายและเฟินหลายชนิด

ป่าดิบเขา



         พบตั้งแต่ระดับ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่วมแดง ทะโล้ สนสามพันปี พะอง จำปีป่า พญาไม้ ก่อเดือย ก่อหนาม ก่อหมู ส้านเขา รัก เหมือดคนดง เฉียงพร้านางแอ พะวา เดื่อหูกวาง ฯลฯ พืชพื้นล่างประกอบด้วยไม้พุ่ม เช่น กุหลาบแดง มือพระนารายณ์ ฮอมคำ จ๊าฮ่อม ฯลฯ ตามหน้าผาริมขอบภูพบปาล์มต้นสูงขึ้นห่างๆ ได้แก่ ค้อดอย ไม้เถา เช่น กระจับเขา เครือเขาน้ำ แก้มขาว หนามไข่ปู ใบก้นปิด ย่านหูเสือ เป็นต้น

ป่าสนเขา

       พบเฉพาะบนที่ราบยอดภูกระดึงที่ระดับความสูงประมาณ 1,200-1,350 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สนสองใบ ก่อเตี้ย ทะโล้ สารภีดอย มะเขื่อเถื่อน รัก ฯลฯ พืชพื้นล่างประกอบด้วย สนทราย ส้มแปะ กุหลาบขาว เม้าแดง พวงตุ้มหู นางคำ ฯลฯ ตามลานหินมีพืชชั้นต่ำพวกไลเคน ประเภทแนบกับหินเป็นแผ่น และประเภทเป็นฟองเรียก ฟองหิน ปกคลุมทั่วไป นอกจากนี้จะพบเอื้องคำหิน ม้าวิ่ง และเขากวาง ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่ออกเป็นกอหนาแน่น พืชล้มลุก เช่น ดาวเรืองภู ว่านคางคก ต่างหูขาว เนียมดอกธูป แววมยุรา หญ้าข้าวก่ำขาว โสภา เทียนภู เปราะภู ดอกหรีด ขนนกยูง หญ้าเหลี่ยม น้ำเต้าพระฤาษี กูดเกี๊ยะ เป็นต้น บนพื้นดินที่ชุ่มแฉะ มอสจำพวกข้าวตอกฤาษีหลายชนิดขึ้นทับถมแน่น คล้ายผืนพรม บางแห่งมีพืชล้มลุกขนาดเล็กหลายชนิดขึ้นปะปนกันแน่น เช่น กระดุมเงิน สาหร่ายข้าวเหนียว ดุสิตา และหญ้าข้าวก่ำ

          ภูกระดึง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยป่าไม้ ทุ่งหญ้าและลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าภูกระดึงมีหลายชนิดที่พบเห็นทั่วไป ได้แก่ ช้างป่า เก้ง กวางป่า หมูป่า ลิงกัง ลิงลม บ่าง กระรอกหลากสี กระแต หนูหริ่งนาหางยาว ตุ่น เม่นหางพวง พังพอน อีเห็น เหยี่ยวรุ้ง นกเขาเปล้า นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกเค้ากู่ นกตะขาบทุ่ง นกโพระดกคอสีฟ้า นกตีทอง นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกนางแอ่นสะโพกแดง นกเด้าดินสวน นกอุ้มบาตร์ นกขี้เถ้าใหญ่ นกกระทาทุ่ง นกพญาไฟใหญ่ นกกางเขนดง นกจาบดินอกลาย นกขมิ้นดง ตุ๊กแก จิ้งจกหางแบนเล็ก กิ้งก่าสวน จิ้งเหลนบ้าน เต่าเหลือง งูทางมะพร้าว งูลายสอบ้าน งูจงอาง งูเก่า งูเขียวหางไหม้ อึ่งอี๊ดหลังลาย เขียดหนอง คางคก กบหูใหญ่ ปาดแคระ และมีเต่าชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยาก คือ เต่าปูลู หรือ เต่าหางเป็นเต่าที่หางยาว อาศัยอยู่ตามลำธารในป่าเขาระดับสูงของประเทศไทย กัมพูชา และ ลาว
แหล่งท่องเที่ยว
ผานกแอ่น



อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากหลังแป 2.5 กิโลเมตร ผานกแอ่นเป็นลานหินเล็กๆมีสนขึ้นโดดเด่นริมหน้าผาต้นหนึ่ง เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามยิ่ง มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา เห็นผานกเค้าได้ชัดเจน ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นเป็นสวนหินมีดอกกุหลาบป่าขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ จะบานสะพรั่งเต็มต้นในเดือนมีนาคม - เมษายน
ผาหล่มสัก

อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นหนึ่งขึ้นชิดริมผาใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปในอากาศทางทิศใต้ บริเวณผาหล่มสักนี้มองเห็นทิวทัศน์เทือกเขาสลับซับซ้อนในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นจุดหนึ่งที่จะชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างชัดเจนที่สุด บรรดาช่างภาพ สื่อมวลชน นิยมไปถ่ายภาพ ณ จุดนี้กันมาก เพราะยามตะวันตกดินจะเกิดทัศนียภาพที่งดงามมาก
สระแก้ว

อยู่ในส่วนต้นน้ำของลำธารสวรรค์ ธารสวรรค์ลักษณะเป็นวังน้ำลึกขนาดไม่กว้างนัก น้ำใสมากจนมองเห็นพื้นหินขาวสะอาด ต่อจากบริเวณสระแก้วมีทางเดินชมธรรมชาติผ่านลานหินซึ่งมีดอกหรีสีม่วงอมน้ำเงินเกสรสีเหลือง ขึ้นอยู่เป็นทุ่งไปจนถึงผาน้อยนาน้อย
สระอโนดาด

เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีต้นสนขึ้นเป็นแนวแน่นขนัด ตามริมสระตอนปากธารน้ำไหลมีลานหินโผล่ขึ้นมา ยามน้ำน้อยสามารถไปนั่งเล่น ได้จากบริเวณสระอโนดาดยังมีทางเดินไปต่อบรรจบกับเส้นทางเดินเท้าสู่ถ้ำสอและถ้ำน้ำได้
น้ำตกเพ็ญพบใหม่


เกิดจากลำธารวังกวาง น้ำตกผ่านผาหินรูปโค้ง ในหน้าหนาว ใบเมเปิ้ลที่อยู่บริเวณริมน้ำตกจะร่วงหล่นลอยไปตามผิวน้ำยามแดดสาดส่องผ่านลงมาจะเป็นสีแดงจัดตัดกับสีเขียวขจีของตะไคร่น้ำตามโขดหิน ลำธารวังกวางเป็นต้นกำเนิดน้ำตกที่มีชื่ออีกแห่งหนึ่ง คือ น้ำตกโผนพบ ซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ โผน กิ่งเพชร นักชกแชมป์เปี้ยนโลกคนแรกของชาวไทยในฐานะเป็นผู้ค้นพบคนแรก เมื่อคราวที่ขึ้นไปซ้อมมวยให้ชินกับอากาศหนาว ก่อนเดินทางไปชกในต่างประเทศ
น้ำตกตาดฮ้อง

เกิดจากลำน้ำพอง ซึ่งไหลลงมาจากภูกระดึงด้านหุบเขาตะวันตกเฉียงเหนือ สองฝั่งของตาดร้องเป็นผาหินสูงชันมาก เมื่อน้ำตกผ่านผาหินกว้างที่ลดหลั่นเป็นชั้น ๆ จึงทำให้เกิดเสียงดังกึกก้อง จากบริเวณน้ำตกมองเห็นแนวภูเขาเปลือยขวางอยู่ข้างหน้าน้ำตกตาดร้องอยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 20 กิโลเมตร
น้ำตกวังกวาง

เป็นน้ำตกอยู่ใกล้กับที่พักมากที่สุดในบรรดาน้ำตกบนภูกระดึง ระยะทางเพียง 750 เมตร จากจุดเริ่มต้นตรงบริเวณบ้านพัก ลักษณะน้ำตกเป็นผาหินไม่สูงนัก ตัดขวางลำธาร ธารน้ำก็ไหลลดขึ้นลงยังวังน้ำเบื้องล่าง ซึ่งมีลักษณะคล้ายโพลงถ้ำมุดลงไปและบริเวณป่าใกล้ ๆ ก็เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงกวางมักจะลงมากินน้ำอยู่เสมอ ๆ จึงเรียกน้ำตกอย่างน่าเอ็นดูว่า น้ำตกวังกวางสูง 7 เมตร บริเวณน้ำตกมีที่กว้างขวางให้ได้นั่งพักสบาย ๆ หลายมุม
น้ำตกถ้ำใหญ่

ห่างจากน้ำตกเพ็ญพบ ประมาณ 1 กิโลเมตร เส้นทางเดินไปสู่น้ำตกจะดูใกล้นิดเดียวสำหรับคนชอบธรรมชาติ ชมนกชมไม้ เพราะตลอดเส้นทางครอบคลุมไปด้วยป่าดิบเขาที่มีพรรณไม้ใหญ่และร่มครึ้มกว่าทุกเส้นทางน้ำตกอื่น ๆ อาจได้พบต้นส้มกุ้ง (Begonice sp.) ออกดอกเป็นสีชมพู เกสรกลางสีเหลือง ชอบขึ้นตามทางในพื้นที่สูงอย่างป่าดงดิบเขา ในเส้นทางถ้ำใหญ่นี้มีทางเดินบางช่วงที่เลียบข้างลำห้วยเล็ก ๆ มีต้นเมเปิ้ลอยู่เป็นระยะ ๆ หากช่วงต้นมกราคม เส้นทางนี้จะแดงฉานด้วยใบเมเปิ้ลที่ร่วงหล่นเกลื่อนพื้นป่า ความสวยงามของน้ำตกถ้ำใหญ่จะแปลกตาด้วยโขดหินมหึมาวางทับซ้อนไม่เป็นระเบียบ ลำธารนี้ขนาบข้างด้วยต้นเมเปิ้ล ยามเมเปิ้ลแดงล่วงหล่น ขัดสีให้ลำธารหินเขียวสวยงามมีสีสันและมีชีวิตชีวาขึ้นมามากนักเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว
น้ำตกธารสวรรค์

จากน้ำตกถ้ำใหญ่เมื่อออกสู่ป่าสนไม่ไกลนักจะมีทางแยกบนลานหินสู่น้ำตกธารสวรรค์ ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักตามเส้นทางป่าสนผ่านลานองค์พระพุทธเมตตาเพียง 1.6 กม. เท่านั้น เป็นน้ำตกขนาดเล็ก
น้ำตกโผนพบ

เป็นหนึ่งในน้ำตกหลายจุดอันเกิดจากสายน้ำวังกวาง ห่างจากตัวน้ำตกเพ็ญพบใหม่เพียง 600 เมตรเท่านั้น ในส่วนของลำธารส่วนบนของน้ำตกโผนพบนี้ สามารถไปยืนชมตัวน้ำตกกลางลำธารซึ่งจะได้ชมทิวทัศน์ที่สวยงาม น้ำตกมี 8 ชั้น สูงประมาณ 30 เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามไม่น้อยบนภูเขานี้ สำหรับชื่อ โผนพบเข้าใจว่า โผน กิ่งเพชร อดีตแชมป์โลกคนแรกของไทยเป็นผู้ค้นพบเมื่อครั้งขึ้นไปซ้อมร่างกายบนภูกระดึง จึงเรียกกันง่าย ๆ ว่า โผนพบ
น้ำตกพระองค์
คล้ายกับน้ำตกถ้ำใหญ่ แต่เป็นน้ำตกขนาดเล็กกว่า เกิดจากลำธารพระองค์ไหลเป็นลำธารเล็กๆ แล้วดิ่งตกลงหน้าผาที่ไม่สูงมากนักมุ่งสู่หินเบื้องล่าง ลำธารพระองค์นี้เป็นลำห้วยเล็ก ๆ ที่ไหลจากสระอโนดาด สระน้ำกลางป่าสนซึ่งไม่เคยเหือดแห้ง จึงมีน้ำไหลตลอดปี
น้ำตกสอเหนือ

เป็นน้ำตกขนาดกลาง สูง 10 เมตร ชั้นเดียว เกิดจากการพังทลายของแผ่นดินขนาดใหญ่เช่นเดียวกับน้ำตกหลายแห่ง ผาหินคล้ายน้ำตกเพ็บพบใหม่ มีสายน้ำไหลกลายเป็นบริเวณกว้าง
น้ำตกสอใต้

อยู่ในลำธารสายเดียวกับน้ำตกสอเหนือและอยู่ไม่ไกลกันนัก เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากหน้าผาหินถล่มลงไป สภาพภูมิประเทศไม่ได้อำนวยให้เกิดเป็นชั้นน้ำตกเหมือนแห่งอื่น ๆ จึงอยู่นอกเหนือความนิยมของนักท่องเที่ยว
ลานหินบริเวณองค์พระพุทธเมตตา   อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 500 เมตร ลานหินบริเวณองค์พระนี้เป็นจุดชมพันธุ์ไม้บนลานหิน เช่น ดุสิตา กระดุมเงิน เอื้องม้าวิ่ง ที่อยู่ใกล้ที่สุด
วังอีเมือง   อยู่ห่างจากน้ำตกตาดฮ้องลงมาประมาณ 3.2 กิโลเมตร บริเวณนี้มีแก่งที่สวยงามหลายแห่ง เหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนและลงเล่นน้ำ
แก่งป่าหินทราย  

       อยู่ห่างจากน้ำตกตาดฮ้องลงมาประมาณ 5.6 กิโลเมตร เป็นแก่งหินที่สวยงาม มีความยาวประมาณ 750 เมตร ด้านบนมีจุดชมทิวทัศน์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของแก่งได้อย่างสวยงาม บริเวณแก่งหินจะมีหลุมเป็นอ่างหิน ที่เกิดจากการกัดกร่อนของแรงน้ำมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เป็นจุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่ง
น้ำตกตาดห้วยวัว  

        อยู่ห่างจากน้ำตกตาดฮ้องลงมาประมาณ 6.5 กิโลเมตร และห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภด.3 (นาน้อย) ประมาณ 4 กิโลเมตร ด้านบนมีแก่งหินเล็กๆ
ลานวัดพระแก้ว   หลังจากชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่นแล้ว สามารถเดินไปลานวัดพระแก้วซึ่งอยู่ห่างไปเพียง 500 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2463 บริเวณลานหินที่กว้างขวางมีพรรณไม้ดอกพวกดุสิตา เอื้องม้าวิ่ง ขึ้นอยู่ทั่วไป ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะพากันออกดอกอยู่เกลื่อนลาน


สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องสุขารวม/ห้องอาบน้ำ    มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและบนยอดภูกระดึง
ที่พักแรม/บ้านพัก
   
 มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ทั้งบนยอดภูกระดึง และบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ด้านล่าง
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์   

อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวสามารถติดต่อจองเต็นท์กับทางอุทยานได้ในวันที่มาถึง ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน<เชิงเขา>เท่านั้น สำหรับอัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 150-500 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่น

- เต็นท์ ขนาด 2 คน ราคา 150 บาท/คืน
- เต็นท์ ขนาด 3 คน ราคา 225 บาท/คืน
- เต็นท์ ขนาด 4 คน ราคา 300 บาท/คืน
- เต็นท์ ขนาด 5 คน ราคา 500 บาท/คืน
หมายเหตุ:ราคาไม่รวม ชุดเครื่องนอน
สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเอง (หรือในกรณีที่เต็นท์ทางอุทยานเต็มและต้องไปเช่าเต็นท์บนยอดเขา)
- ชำระค่าขอใช้สถานที่กางเต็นท์ในอัตรา 30/คน/คืน
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 - 12 ปี จะไม่ได้ชำระค่าขอใช้สถานที่กางเต็นท์
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเช่าเครื่องนอนทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีไว้บริการดังนี้
- ถุงนอน อัตราการเช่า 30 บาท/คืน/ถุง
- ที่รองนอน อัตราการเช่า 20 บาท/คืน/อัน
- หมอน อัตราการเช่า 10 บาท/คืน/ใบ
- ผ้าห่ม อัตราการเช่า 10 บาท/คืน/ผืน
- ผ้าห่มอย่างหนา อัตราการเช่า 20 บาท/คืน/ผืน
- เสื่อ อัตราการเช่า 10 บาท/คืน/ผืน
ที่จอดรถ    มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร    เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับบริการที่ดี ทั้งคุณภาพอาหารและเครื่องดื่ม หากพบว่าไม่สะอาด ราคาไม่เป็นธรรม หรือมีการปลอมปน ขอให้นักท่องเที่ยวแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวหรือโทรศัพท์หมายเลข 0-4287-1333 เพื่อดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป สำหรับร้านอาหารและร้านจำหน่ายของที่ระลึกนั้น มีไว้คอยบริการตามจุดต่างๆ ดังนี้
1. บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน (เชิงเขา)
2. ระหว่างทางเดินขึ้นเขา บริเวณซำแฮก ซำกอซาง ซำกกโดน และซำแคร่
3. บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง (ยอดเขา) และจุดชมทิวทัศน์ต่างๆบนยอดเขา ดังนี้ ผาหมากดูก ผานาน้อย ผาเหยียบเมฆ ผาแดง และผาหล่มสัก
การเดินทาง
รถโดยสารประจำทาง
โดยสารรถยนต์จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) กรุงเทพมหานคร ไปลงที่ผานกเค้า ซึ่งเป็นเขตต่อแดนระหว่างชุมแพ-ภูกระดึง แล้วโดยสารรถประจำทาง(รถสองแถว) ไปลงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จากนั้นก็เดินต่อขึ้นไปยอดภูกระดึงควรใช้รถประจำ หรือหากนักท่องเที่ยวใช้รถประจำทางเส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ลงที่ชุมแพ และต่อรถสายขอนแก่น-เลย ไปลงที่ตลาดอำเภอภูกระดึง ซึ่งจะมีรถสองแถวต่อถึงไปอุทยานฯ
ปล.รถสองแถวแดงที่รับจ้างนำนักท่องเที่ยวส่งระหว่างจุดจอดรถที่ผานกเค้ามาที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง คำแนะนำคือ ถ้าเรามาไม่กี่คนให้รวมทีมกับกรุ๊ปอื่นจะได้เฉลี่ยค่าสองแถวไม่ต้องเหมารถให้เปลืองสตางค์
 รถไฟ
จากกรุงเทพมหานครโดยสารรถไฟไปลงที่ขอนแก่น จากนั้นโดยสารรถประจำทางสายขอนแก่น-เลย ไปยังหน้าตลาดที่ว่าการอำเภอภูกระดึง แล้วต่อรถสองแถว หรือเดินทางต่อไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นปีนเขาขึ้นยอดภู จากนั้นต้องเดินเท้าขึ้นยอดภู อีก 5 กิโลเมตร จึงจะถึง หลังแปแล้วเดินเท้าไปตามทุ่งหญ้าอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงที่พักบนยอดภูกระดึงทางอุทยานฯ ได้จัดลูกหาบสัมภาระของนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนยอดภูกระดึง คิดค่าบริการเป็นกิโลกรัม
เครื่องบิน
เดินทางโดยเครื่องบิน โดยใช้เที่ยวบิน กรุงเทพฯ-ขอนแก่น กรุงเทพฯ-เลย กรุงเทพฯ-อุดรธานี ของสายการบินต่างๆ สอบถามข้อมูลเที่ยวบินและสายการบิน โทร. 0-2628-2000, 0-2515-9999, 0-2267-2999 และ 1318
รถส่วนตัว
การเดินทางโดยรถยนต์

                1. เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก หล่มเก่า ด่านซ้าย ภูเรือ และอำเภอเมืองเลย เลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (เลย-ขอนแก่น) และเลี้ยวเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2019 เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 
              2. ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา จนถึงจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูผาม่านและตำบลผานกเค้า เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 
              3. เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 201 ผ่านจังหวัดชัยภูมิ อำเภอภูเขียว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ จากนั้นเดินทางเช่นเดียวกับเส้นทางที่ 2
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ทั้งบนยอดภูกระดึง และบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ด้านล่าง ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
แผนที่
รายชื่อสมาชิกในกลุ่ม
นายพีรสิทธิ์ วิชัยรัมย์                     511380001
นายวรพจน์ อรรถฉัตร                    511380005
นางสาวนิรดา บรรจงเปลี่ยน          511380006
นางสาวศิริรัตน์ ชลหัศถ์                 511380007